บันทึกการเสวนาที่น่าจดจำเอาไว้ เนื่องด้วยพวกเราได้รับความรู้ดีๆจากท่านอาจารย์คุณหมอวิจารณ์ พานิช
๒๒ กันยายน ๒๕๖๗
Key Speaker :
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
ครูอั๋น ดร.อันธิกา ภูวภิรมย์ขวัญ
ครูเกด อาจารย์ภูวฤทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ
ผู้ดำเนินรายการ คุณวนิดา วัลย์จิตรวงศ์ แม่มิกิ แห่ง Kids Around
บันทึกการเสวนาที่น่าจดจำเอาไว้ เนื่องด้วยพวกเราได้รับความรู้ดีๆจากท่านอาจารย์คุณหมอวิจารณ์ พานิช ซึ่งท่านชวนพูด ชวนคุย จากการตั้งคำถามกระตุ้นต่อม เอ๊ะ? เมื่อพ่อแม่ อ๋อ! ก็แย่งกันยกมือตอบแบบเด็กน้อยที่ไม่กลัวผิด เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ตรงคนแล้วคนเล่า การเรียนรู้วันนี้จึงเข้าใจง่ายแสนง่าย ด้วยภาษาบ้านๆของนักเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่มาจากตำราหรือทฤษฎีใดๆ ...
จากนั้นท่านและพวกเราก็ช่วยกันแคะประเด็นจากคำตอบ โยนกลับไปถามอีกว่า แบบไหนจึงเรียกว่า Self Directed Holistic Learning และ แบบไหนที่ยังไปไม่สุด หยุดอยู่แค่เพียง “ความคิด” จากการตั้งคำถาม เพื่อหาคำตอบเชิงเหตุผลเท่านั้น ... อย่าเพิ่งสอนให้เด็กเชื่อคำตอบทั้งหมดจากสื่อต่างๆ ให้เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง จนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยตนเอง จึงจะเป็นความรู้สดใหม่ในปัจจุบันของคนๆนั้นนั่นแหละ (หลัก “กาลามสูตร”)
การตั้งประเด็นคำถามของพ่อแม่ ทำให้รู้ระแคะระคายต้นตอของความไม่รู้ จนเป็นเหตุแห่งความกังวล จึงโค้ชให้ต้องเสริมเรื่องจิตวิทยาเด็ก เพื่อให้รู้วิธีดูแลลูกได้อย่างเหมาะสม
สิ่งที่พ่อแม่ควรเตือนตัวเอง คือ อย่าสอนลูก ควรให้ลูกสอนตัวเอง โดย คิดเอง (Critical Reflection) ทำเอง (Experiential Learning) พ่อแม่เป็นผู้ตั้งคำถาม (Scaffolding)
การศึกษาในยุคปัจจุบัน ต้องไม่ใช่การสอน บอก สั่ง ควรให้เด็กเรียนรู้จากการทำ และ เรียนจากความผิดพลาด จะได้ไม่กลัวที่จะผิด ช่วยให้ยิ่งมีความสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จ ใน ๔ ส่วน มาจากพรสวรรค์เพียง ๑ ส่วน ที่เหลือ ๓ ส่วนมาจากพรแสวง
" เด็กควรได้เรียนรู้ผ่านการเล่น และ ต้องเล่นที่มีความเสี่ยงพอประมาณ เพื่อฝึกการแก้ปัญหา "
ท่านให้เคล็ดลับการเลี้ยงลูกว่า “ท่านเลี้ยงลูกท่านแบบทิ้งๆขว้างๆ” คือ จงใจที่จะให้ลูกเผชิญกับสังคมค่ะ ทำเอาพ่อแม่ขำไม่ออก เพราะสภาพความจริงคือ เราไม่กล้าให้ลูกเผชิญ (ครูอั๋นเลี้ยงลูกแบบขี้เกียจๆ จึงต้อง ช่วย แชร์ ชง)
แต่บอกไว้ก่อนะคะว่า วงสนทนานี้ วิทยากรทั้ง ๓ ท่านลงความเห็นว่า พ่อแม่ที่จะเอาดีด้านการสร้างเด็กให้เรียนรู้ด้วยตนเองแบบองค์รวมในฐานะปัจเจกนั้น ต้องเข้าใจว่า เด็กจะ “ดื้อ” นะ คือ เขาจะไม่ได้เชื่อใครง่ายๆโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์ จะกล้า พยายามทำจนกว่าจะถึงเป้าหมายของเขา (ที่ไม่ใช่ของเรานะคะ) เขาจะสนุกมีชีวิตชีวากับการค้นหาเรื่องที่สนใจ เป็นเด็กสังคมที่กล้าลอง ไม่กลัวผิด ทักษะด้านร่างกายจะดูคล่องแคล่ว หยิบจับใช้ได้เอง ไม่เรียกร้องการช่วยเหลือ ชอบท่องโลกเพื่อเรียนรู้ ที่สำคัญ เด็กจะสะท้อนคิด สะท้อนอารมณ์ไว รู้เท่าทันใจตัวเองและมีสติกับสิ่งรอบตัว อาหารนี้จะเป็นมากน้อย แตกต่างกันไปตามแบบฉบับร่างของเขาที่มีมาด้วย ... หน้าที่พ่อแม่ คือ ดูว่าลูกดื้อแล้วเป็นไง ให้ดูอยู่ห่างๆ .. ยากตรงที่ มันอยู่นอกเหนือความเคยชินของเรา คือ ความสามารถควบคุม ตีกรอบเพื่อการจัดการลูกให้ง่ายที่สุด เชื่อฟังที่สุด ผลที่ตามมาคือ ลูกหยุดพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่ส่งผลต่อ ความรักในการเรียนรู้ การเรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัว การเรียนรู้แบบร่วมมือ การค้นพบตนเอง และ สมรรถนะในการใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆก็ลดลงในที่สุด
สิ่งที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุดของชีวิตเรา คือ คำถาม ความสงสัย ฝึกให้เด็กตั้งคำถามแปลกๆ ใหม่ๆ ลองเอามาคิด มาถาม มาตอบ จนเป็นนิสัย
ระหว่างทางของกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองนี้ จะเกิด
๑) การใคร่ครวญกับตัวเอง
๒) ใคร่ครวญร่วมกับคนอื่น
๓) ใคร่ครวญในเรื่องที่ไม่ตรงกับที่เราคิด
. เพราะชีวิตจริงไม่ได้เป็นเส้นตรง
เด็กจะเรียนรู้สดๆในสภาพของ Real World
แต่กลับพบว่า “สภาพห้องเรียนในยุคนี้กลับเป็นโลกสมมติ” !
ฉะนั้น หากอยากให้ลูกมีการเรียนรู้ที่ดี ค้นพบตนเองได้ ต้องให้ออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมด้วยประสบการณ์ตรง
อย่าลืมนะคะว่า เด็กเรียนรู้ ๒๔ ชั่วโมง ทั้งยามหลับและตื่น หลับก็คือการเรียนรู้ที่จะพรุนนิ่ง แม้ฝันก็คือการเรียนรู้สิ่งที่ถูกเก็บกดในเบื้องลึก เพื่อปลดปล่อย
“ปัญหาที่เกิดขึ้นของการศึกษาเด็กที่ไปไม่ถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบองค์รวมในฐานะปัจเจก ล้วนมาจาก ‘ความรักของพ่อแม่ที่กลายเป็นม่านบังตา และ ปิดโอกาสลูก’ ”
ท่านช่างเลิศล้ำในลีลาพาเรียนรู้สู่วิถี ‘การเรียนรู้ด้วยตนเองแบบองค์รวมของปัจเจก’ เมื่อถึงช่วงเวลาที่วกกลับมาให้พ่อแม่ถามบ้าง ท่านก็มักไม่ได้มีคำตอบสำเร็จรูป เป็นเพียงการไกด์ การโค้ช ที่เอื้อให้ใคร่ครวญด้วยจิตภายในตนอีกในอีกนั่นเอง
... ชอบที่สุด คือ ท่านเตือนสติพ่อแม่ว่า เรากำลังทำประหนึ่งว่าการเรียนรู้ของลูกกำลังจะถึงปลายทางแล้ว ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นวัยอนุบาลเท่านั้นเอง ... มนุษย์เรียนรู้ตลอดชีวิตนะ
๓ ประสาน ผ่านไป ๓ ชั่วโมงอย่างรวดเร็ว … หนังสือที่ท่านนำมาแจกร่วม ๒๐ เล่ม สำหรับผู้กล้าสื่อสาร หมดเกลี้ยงภายในพริบตาค่ะ 🥳
วันนี้คือที่สุดอีกวันแห่งความสุขในการเป็นครู เป็นพ่อแม่และเป็นผู้เรียนรู้ค่ะ เชื่อว่าในทุกบทบาท ณ ที่นี้ รู้สึกไม่ต่าง สังเกตุได้จากพลังงานที่ส่งถึงกัน
🤩เพราะท่านมาช่วยเติมพลังให้พวกเราแบบเต็มแม็กซสุดๆจริงๆค่ะ
กราบขอบพระคุณท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นอย่างสูง ในพลังงานดีๆของท่าน ในความรู้อันล้ำค่า ในวิถีการพัฒนาศักยภาพตัวเอง และ การเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบองค์รวมของเด็กปฐมวัยในฐานะปัจเจกค่ะ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ครูอั๋น
อนุบาลช้างเผือก